9 สาเหตุและปัญหาที่พบบ่อยในการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ

9 สาเหตุและปัญหาที่พบบ่อยในการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ

https://youtu.be/Ee6NXo7TgKs

9 สาเหตุและปัญหาที่พบบ่อยในการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ

จากที่เรารู้กันดีนะคะว่า ในวัยผู้สูงอายุจะนอนหลับได้ยากและมีการนอนหลับลึกๆและนานๆได้น้อยกว่าเด็กๆแต่ไม่ว่ายังไงก็ตามถึงจะนอนหลับได้ยากแต่เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ผู้สูงอายุ ควรได้รับการนอนหลับพักผ่อน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน เพราะหากนอนหลับน้อยกว่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายของเซลล์รวมไปถึงการฟื้นฟูของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่นอนหลับไม่เพียงพอยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆตามมาได้

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยเอะใจว่าจริงๆแล้ว สาเหตุของการนอนไม่หลับในวัยผู้สูงอายุนั้นเกิดมาจากอะไรกันบ้าง  ซึ่งวันนี้ทาง sleep story  ของเราก็จะมาบอกถึง 9 สาเหตุและปัญหาที่พบบ่อยในการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ เผื่อว่า เรารู้สาเหตุ เราจะได้หาหนทางออกที่ดีได้ง่ายๆค่ะ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

1.นิสัยการนอนหลับรวมถึงสภาพแวดล้อมในการนอนหลับที่ไม่ดี เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน การเล่นมือถือก่อนนอน รวมไปถึงการนอนหลับไปพร้อมๆกับการเปิดโทรทัศน์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ดังนั้นนะคะ ก่อนนอน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าภายในห้องนอนอากาศสบายเงียบสงบและมืดสนิท สิ่งเหล่านี้จะช่วยเอื้อต่อการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้น

2.อาการเจ็บปวดทางร่างกายหรือภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น การปวดปัสสาวะบ่อยๆ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเอว รวมไปถึงภาวะสุขภาพต่างๆ เช่น อาการหอบหืด โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับกระดูก  รวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ก็มักจะรบกวนการนอนหลับได้ ดังนั้นการปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ค่ะ

3.วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ผู้หญิงในช่วงวัยนี้หลายคน พบว่ามีอาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน ซึ่งก็ทำให้นอนหลับได้ไม่ค่อยดีเท่าไร ทางออกสำหรับวัยนี้ การปรับเปลี่ยนอาหารที่ทานในระหว่างวันและออกกำลังกายร่วมด้วยก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

4.ผลจากการใช้ยา ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่นะคะ มีแนวโน้มที่จะใช้ยามากกว่าคนวัยอื่นๆ ซึ่งยาเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ  ดังนั้นสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้ยาบ่อยๆ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาบางอย่าง เพื่อช่วยปรับปรุงการนอนหลับค่ะ

5.การไม่ยอมออกกำลังกาย หรือ ขาดการออกกำลังกาย การอยู่นิ่งๆหรืออยู่ประจำที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นอนไม่หลับได้  โดยทางออกที่ดีก็คือ พยายามออกกำลังกายเป็นประจำในแต่ละวัน อาจจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง หรือการออกำลังกายแบบอื่นๆบ้างทุกวัน ก็จะช่วยให้การนอนหลับนั้นง่ายและดีขึ้นค่ะ

6.ความเครียด  ความเครียดมักจะเป็นปัญหาของคนทุกวัย ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่วัยสูงอายุเท่านั้น และเจ้าความเครียดนี่แหละที่มีผลอย่างมากกับการนอนไม่หลับ  ทางออกที่ดีคือ พยายามทำจิตใจให้สบาย หากมีปัญหาที่ไม่สามารถหาทางแก้ได้คนเดียวก็จำเป็นที่จะต้องปรึกษาหรือหาใครสักคนที่จะสามารถพูดคุยด้วยได้ อาจจะเป็น ลูก หลาน หรือคู่ชีวิต ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนหรือคุณหมอก็ได้ค่ะ เพราะการที่เราได้พูดคุยบางอย่างออกไปมันจะทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นและช่วยลดความตึงเครียดลงได้

7.ขาดการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมกับทางครอบครัวหรือทางสังคมต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งร่างกายและจิตใจสูงขึ้น และช่วยให้พักผ่อนนอนหลับได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากคุณอยู่ในวัยที่เกษียณแล้ว ให้ลองเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนต่างๆ เช่น อาสาสมัครปลูกต้นไม้ ให้ความรู้ ฯลฯ ก็จะช่วยได้เยอะค่ะ

8.การนอนกรน หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหานี้พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่นอนกรนหรือมีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ บางครั้งถึงแม้ว่าจะได้นอนหลับ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็จะหลับได้ไม่สนิทอีกทั้งยังสะดุ้งตื่นบ่อยๆทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ หนทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับค่ะ

9.ขาดการสัมผัสกับแสงแดด แสงแดดที่อบอุ่นและสดใสนะคะจะช่วยควบคุมเมลาโทนินและรอบการนอนหลับในแต่ละคืนของเรา จะเห็นได้ว่า คนที่ไม่ได้พบเจอแสงแดดจะมีปัญหาการนอนหลับได้มากกว่าคนที่ตากแดด ดังนั้น พยายามพาร่างกายออกไปรับสงแดดอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน แล้วจะพบว่านอนหลับได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ

สำหรับผู้สูงอายุที่รู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากนอนหลับไม่เพียงพอนะคะ เราขอแนะนำให้คุณผู้สูงอายุทุกท่าน งีบหลับในตอนกลางวันบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวจะได้สดชื่นขึ้น ซึ่งเคล็ดลับในการงีบหลับนั้นคือ ให้งีบหลับเพียงแค่สั้นๆ ประมาณ 5 นาที เพื่อทำให้ร่างกายตื่นตัวและได้รับประโยชน์จากการงีบหลับมากที่สุด แต่พยายามอย่างีบนานเกินไป เช่น 15-45 นาที การงีบที่นานเกินไปอาจทำให้รู้สึกมึนงงและไม่มีสมาธิได้ค่ะ และพยายามเลือกเวลางีบหลับในตอนเช้าๆ-สายๆ อย่าเลือกงีบหลับตอนบ่ายนะคะเพราะการงีบตอนบ่ายนั้นอาจจะทำให้การนอนหลับในตอนกลางคืนยากขึ้นไปอีกค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *